ทำรายการออนไลน์ด้วย OTP (One-time Password) อย่างไรให้ปลอดภัย

วันที่ : 29 Feb 2024 ผู้เขียน : Krungsri Consumer

ยุคสมัยนี้ เป็นยุคแห่งเทคโนโลยี สังคมออนไลน์ การทำธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครลงทะเบียน การซื้อสินค้าออนไลน์ก็เช่นกัน จะมีสิ่งหนึ่งที่ให้เรายืนยันตัวตนนั้นก็คือ รหัส OTP (One-time Password)

รหัส OTP (One-time Password)

คือชุดรหัสผ่านที่ใช้งานเพียงครั้งเดียว ที่มีขึ้นเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางด้านออนไลน์ เพื่อให้เรานำรหัส OTP ยืนยันตัวตน ว่าเราเป็นผู้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ ณ ขณะนั้น และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนตัดเงินจากบัตรเครดิต

ทางกรุงศรี คอนซูมเมอร์ เน้นความปลอดภัยอย่างสูง หากมีการทำรายการสินค้าออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต โดยการชำระเงินของร้านค้านั้นๆหากมีขั้นตอนการใส่รหัส OTP รหัสจะถูกจัดส่งให้กับเราผ่านช่องทาง Notification บนแอป UCHOOSE ที่เราเป็นผู้ลงทะเบียนใช้งาน หรือ SMS ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่เราได้ให้ไว้ในระบบเท่านั้น ทำให้มั่นใจได้ว่า OTP จะส่งตรงถึงมือผู้ถือบัตรเครดิตในเครือของกรุงศรี คอนซูมเมอร์เท่านั้น ดังนั้น รายการออนไลน์ที่มี OTP ประกอบในการทำรายการจึงอยู่ในความรับผิดชอบของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

วันนี้จึงมี เคล็ดลับดีๆที่ต้องรู้ เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ

1.ไม่บอกรหัส OTP กับบุคคลอื่น

ปัจจุบันนี้ มิจฉาชีพมีรูปแบบในการหลอกลวงที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือการหลอกขอรหัส OTP ในการทำรายการที่ทางศูนย์บริการสมาชิกบัตรเครดิตส่งให้ โดยแอบอ้างว่าติดต่อมาจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ ต่างๆ เพื่อทำเรื่องคืนเงิน ทำเรื่องให้เราได้ผลประโยชน์ต่างๆ และหลอกให้เราบอกรหัส OTP ไป ซึ่งไม่มีหน่วยงานราชการ หรือ รัฐวิสาหกิจ มาขอรหัส OTP กับเราอย่างแน่นอน

2.หยุดคิดสักนิด หากได้รับรหัส OTP แต่ไม่ได้ทำรายการใดๆ

ตั้งสมมติฐานก่อนได้เลย ว่าอาจจะมีบุคคลไม่หวังดีกำลังพยายาม ทำรายการเพื่อที่จะตัดบัตรเครดิตของเรา หากไม่ได้ทำรายการ ให้ระงับบัตรชั่วคราวจาก แอป UCHOOSE โดยเร็วที่สุด และติดต่อศูนย์บริการสมาชิกบัตร เพื่อตรวจสอบ

3. อ่านข้อความ OTP โดยละเอียด

ถ้าเราอ่านข้อความที่ทางบริษัทนำส่ง OTP ให้ก่อนที่จะทำรายการใดๆ ก็จะเพิ่มความปลอดภัยในการทำรายการออนไลน์ให้มากขึ้น

จากข้อความตัวอย่างที่ทางบริษัทนำส่ง OTP ให้กับเรา จะเห็นได้ว่านอกจากจะมีรหัส OTP แล้ว ยังมีการระบุทั้งชื่อร้านค้าและจำนวนเงิน เมื่อตรวจสอบข้อความแล้ว ร้านค้าที่ปรากฏในข้อความที่นำส่ง OTP เป็นชื่อเดียวกับร้านค้าที่เราทำรายการ ยอดเงินเป็นจำนวนเดียวกัน Reference no. เป็นตัวเลขเดียวกับที่ปรากฏบน Website หรือ Application ที่กำลังทำรายการก็มั่นใจได้ว่าเป็นรายการที่เราต้องการทำรายการจริง และสามารถกรอกรหัส OTP ที่ต้องการทำรายการได้เลย แต่หากข้อมูลในข้อความที่นำส่งรหัส OTP ไม่ตรงก็สามารถหยุดทำธุรกรรมดังกล่าวก่อนที่จะมีความเสียหายเกิดขึ้น

แชร์บทความนี้ไปยัง

บทความน่าสนใจอื่นๆ