เช็กก่อนให้ชัวร์กว่า!! มัดรวมวิธีสังเกตกลลวงมิจฉาชีพ

วันที่ : 10 Feb 2023 ผู้เขียน : Krungsri Consumer

ช่วงนี้มิจฉาชีพระบาดหนักมาก!! กลโกงที่มาก็มีหลาหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการหลอกให้กด link หรือ Download application ทั้งทาง Email ปลอม และ SMS ปลอม ซึ่งหากหลงเชื่อทำตาม คนร้ายก็จะสามารถ Remote access เข้ามาในโทรศัพท์มือถือของเรา และทำธุรกรรมทางการเงินจากโทรศัพท์มือถือจนก่อความเสียหายเป็นจำนวนมาก วันนี้ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เลยมัดรวมมาให้ วิธีสังเกตกลลวงต่างๆ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ต้องเช็กให้ชัวร์ ให้แน่ใจ จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย!!

1.ตรวจสอบเบอร์ SMS หรือ ชื่อ Email ให้แน่ใจก่อนว่ามาจากไหน

เช็กกับเว็บไซต์จริงของหน่วยงานที่ SMS หรือ Email นั้นกล่าวอ้าง เนื่องจากปัจจุบัน มิจฉาชีพนิยมใช้วิธีปลอมแปลงชื่อผู้ส่ง เพื่อหลอกให้คนที่ได้รับหลงเชื่อและกรอกข้อมูลส่วนตัว แล้วนำไปทำธุรกรรมที่สร้างความเสียหาย ดังนั้น เมื่อได้รับข้อความที่มีการเชิญชวนให้กด Link เราจึงต้องตรวจสอบให้แน่ชัด และถ้าจะให้ดี...ควรโทรศัพท์ไปสอบถามกับทางเจ้าหน้าของต้นทางนั้นๆ ก็จะช่วยเสริมความปลอดภัยอีกขั้นหนึ่ง

2. สังเกตชื่อเลียนแบบที่ทำยังไงก็ไม่เนียน

โดยปกติมิจฉาชีพมักแนบ Link ของหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ มาในข้อความด้วย แต่ว่าก่อนจะกดแต่ละครั้ง อยากให้สังเกตอย่างละเอียดให้ดี อาจมีตัวอักษรเกินมาหรือหายไปอย่างผิดสังเกต มากกว่านั้นคือบางร้ายอาจฉีกแนวสร้าง URL ปลอมขึ้นมาใหม่ ทางที่ดีคือลองรีเช็กกับเว็บไซต์ต้นทางก่อนทุกครั้ง อย่ากดหรือกระทำการใดๆ หากไม่จะเป็น เพราะอาจทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลของเราได้ในทุกขณะ

3. มีข้อความเร่งเร้าสร้างวิตกกังวลให้หลงเชื่อ

เคยเจอไหม...ได้รับข้อความแจ้งเตือนให้รีบอัพเดทข้อมูล แจ้งว่าบัญชีข้อมูลถูกแฮ๊กขอให้เราส่งข้อมูลส่วนตัวให้ช่วยแก้ไขทันที น่าตกใจ...แต่ห้ามทำตามเด็ดขาด!! เพราะแท้จริงแล้วอาจเป็นคนร้าย ที่หวังนำข้อมูลเราไปใช้งานต่อ ด้วยการแก้ไขพาสเวิร์ดเพื่อขโมยเงินในบัญชีเรา ดังนั้น หากได้รับข้อความชวนตกอกตกใจเช่นนี้ ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าผู้ดูแลโดยเร็วเพื่อตรวจสอบ ห้ามดำเนินการเอง จะเป็นการดีที่สุด

4. ข้อความพิเศษเพื่อกระตุ้นให้ “อยากได้” เป็นพิเศษ

คุณได้รับสิทธิพิเศษ ได้รับรางวัลต่างๆ ทั้งที่ไม่ได้เคยไปสมัครหรือเล่นเกมส์ใดๆ น่ายินดี...แต่ช้าก่อนท่าน!! ข้อความลักษณะนี้มักเป็นสานส์จากมิจฉาชีพ ซึ่งจะมาพร้อมกับลิงก์เว็บไซต์ปลอม หรือไลน์ปลอมขอให้แอดเป็นเพื่อน จากนั้นก็จะให้เรากรอกข้อมูลส่วนตัว รหัส OTP หรือดาวน์โหลดแอปที่มีนามสกุล .apk ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูล หรือใช้จัดการกับเครื่องของเรา และนำไปสู่การขโมยเงินในบัญชีธนาคารที่อยู่ในเครื่องโทรศัพท์เราได้ ดังนั้น หากได้รับข้อความเช่นนี้ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่า หากไม่เคยร่วมกิจกรรม ก็ไม่มีทางได้อะไรมาฟรีๆ ขอให้ดำเนินการลบมันออกไปจากเครื่องโดยเร็ว แต่หากท่านใดเคยร่วมสนุกแล้วไม่มั่นใจ แนะนำว่าติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวจะแน่นอนที่สุด

5. เร่งเร้าให้เรา “คลิก”

ต้องรีบนะ อัพเดทก่อนนะ เดี๋ยวบัญชีจะใช้งานไม่ได้ หรือรับสิทธิพิเศษก่อนหมดเขต ซึ่งก็เข้าข่ายเดียวกับสองข้อด้านบน ที่มุ่งหวังจะเข้ามาสวมรอยเป็นเรา หรือแทรกแซงเข้ามาในโทรศัพท์เพื่อขโมยเงินในบัญชี ย้ำกันอีกครั้งว่าห้ามกด ห้ามกรอก และห้ามส่งข้อมูลส่วนตัวใดๆ กลับไปเด็ดขาด ลบมันออกไปจากเครื่องซะ แล้วหมั่นอัพเดตสแกนไวรัส หรือตัวจัดการมัลแวร์ เพื่อให้โทรศัพท์ปลอดภัยอยู่เสมอ

6. แอบรอเธออยู่นะจ้ะ...ขอ “ข้อมูลส่วนตัว” หน่อยสิ

ข้อนี้มาได้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุย การกรอกข้อมูล หรือหลอกให้ลงแอปพลิเคชั่น สิ่งที่คนร้ายต้องการต่อไป คือ หมายเลขบัตรประชาชน รหัสเครื่องหรือรหัสเข้าแอปธนาคาร เบอร์โทรศัพท์ หมายเลขบัญชี และรหัส OTP สิ่งเหล่านี้จะเป็นกุญแจทำให้ผู้ร้ายจัดการกับบัญชีธนาคารของเรา ได้โดยการโอนเงินออกไปโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น ขอให้จำให้ขึ้นใจ ข้อมูลส่วนตัวใดๆ รวมถึงรหัส OTP ห้ามบอกหรือส่งต่อให้ใครเด็ดขาด หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อ

ในกรณีที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมขอให้ติดต่อศูนย์บริการสมาชิกบัตรของท่านทันที รายละเอียดการติดต่อเพิ่มเติม คลิก!

ขอขอบคุณข้อมูลจาก Anti-Fake News Center

แชร์บทความนี้ไปยัง

บทความอื่นๆ